สารจากคณบดี

“พลิกยุทธศาสตร์บริหารการศึกษา” วิธีเดินเกมแบบคนที่มองเห็นอนาคตของ คณะสถาปัตย์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ชวนถกประเด็น การเรียนรู้ในโลกยุคใหม่เป็นแบบไหน และอะไรคือยุทธศาสตร์ที่คณะสถาปัตย์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้เป็นกุญแจสำคัญในการพลิกโฉมการศึกษาเพื่อเดินหน้าสู่การเป็น ‘สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำในเอเชีย ด้านการออกแบบและสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง
    จริงอยู่ที่ว่าสถานการณ์โควิดเป็นตัวเร่งให้ระบบการศึกษาไทย (จริงๆ ก็ทั่วโลก) ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงในอัตราเร่งที่เร็วกว่าเดิม แต่หากถามคนในแวดวงการศึกษาและประชาชนที่เติบโตมากับระบบการศึกษาไทยคงได้แต่ยิ้มอ่อน เราได้ยินคำว่า “การศึกษาแบบเดิมไม่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่อีกต่อไป” มาตั้งแต่ยุค Education Disruption แต่สุดท้ายเราก็ยังอยู่กับระบบการศึกษาไทยแบบเดิม Education Disruption เหมือนเป็นวิชาเลือก สอบไม่ผ่านได้เกรดไม่ดีแต่ก็พออยู่ได้ แต่วิกฤตโรคระบาดคือวิชาบังคับ สอบไม่ผ่านปรับตก! เป็นจังหวะดีที่ THE STANDARD ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้มีหลายมิติที่ต่างออกไปจากเดิม โดยเฉพาะการพลิกยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ของคณะสถาปัตย์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
      ปลายปีที่แล้ว ทิศทางของโลกการศึกษาที่คณะสถาปัตย์ฯ ตั้งใจจะก้าวเดินไปในปีที่ 22 คือการเป็นสถาบันการศึกษาที่ต้อง Learn Fast, Fail Fast ‘มองให้ไกลและทำทันที’ แต่โควิดกำลังทำให้ทุกสถาบันการศึกษาไปจนถึงระบบการศึกษาทั่วโลกต้องล้มกระดานและวางหมากใหม่ เพราะโลกกำลังเปลี่ยนไวในอัตราความเร็วที่เพิ่มขึ้น
        ดังนั้น ‘มองให้ไกลและทำทันที’ จึงไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองจะวางใจและนิ่งนอนใจอีกต่อไป ผศ.อาสาฬห์ ย้ำชัดว่า “นี่เป็นปรากฏการณ์ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ที่ส่งผลกระทบสาหัสที่สุด และส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วน 2 ปีที่ผ่านมาโลกเปลี่ยนไปมาก โลกอีก 5 ปีไม่มีทางเหมือนตอนนี้ ต้องคิดใหม่ ระบบการศึกษาก็เช่นกัน วางหลักสูตรเพื่อใช้อีก 5 ปี ถึงวันนั้นล้าหลังแน่นอน”
          “ระบบการศึกษาต้องเปลี่ยน แต่จะเปลี่ยนเป็นอะไร ถ้าเราดูปรัชญาพื้นฐานของอุดมศึกษา หัวใจคือ การผลิตคนเพื่ออยู่กับโลกในอนาคต คำถามคือ แล้วโลกของอนาคตจะเป็นอย่างไร?”
            ตลอด 22 ปี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง เดินหน้าปรับตัว ปรับหลักสูตร รูปแบบการเรียนการสอนตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ผู้เรียน บนวิสัยทัศน์ ‘มองให้ไกลและทำทันที’ และภายใต้บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งยกระดับสังคม ยกระดับเศรษฐกิจ ผลิตคนที่มีศักยภาพในการชี้นำสังคม
              แต่ในวันที่โจทย์เปลี่ยน ตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้มีมากขึ้น คณะสถาปัตย์ฯ จึงวางกรอบให้ชัดขึ้น มุ่งปูทางบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ด้วยองค์ความรู้รอบด้าน ยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม ติดสกิลพิเศษให้พร้อมรับมือกับโลกที่ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปแบบไหน ด้วยอัตราเร่งเท่าไร เด็กสถาปัตย์ฯ ต้องรอด!

                3 เทรนด์โลกสู่การขับเคลื่อนทิศทางการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่

                ผศ.อาสาฬห์ เล่าว่า สิ่งที่คณะสถาปัตย์ฯ ทำมาตลอดคือการมองภาพอนาคตโดยใช้เครื่องมือ Foresight และ Scenario Planning จึงเป็นข้อได้เปรียบเรื่องการปรับตัวเร็ว และด้วยผลลัพธ์ของการปรับตัวตั้งแต่ยุคแรกๆ ทำให้การขับเคลื่อนในแนวทางต่อจากนี้เดินหน้าต่อได้ทันที
                  “พอเรามาตั้งโจทย์ไปที่การผลิตคนเพื่ออยู่กับโลกในอนาคตต้องทำอย่างไร และโลกอนาคตที่ว่าเป็นแบบไหน มันก็ไปสอดคล้องกับโจทย์ที่ว่า แล้วโลกอุดมศึกษาของเราต้องขับเคลื่อนไปตามอนาคตด้วยเช่นกัน”
                    “จึงเป็นที่มาของ Driving Forces สำคัญ 3 ด้าน ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนโลกการศึกษาในอนาคต Well-being & Quality of Life ก่อนเกิดวิกฤตโควิด เราพูดกันเยอะเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้มองในมิติที่ว่า สิ่งแวดล้อมมีผลกระทบกับมนุษย์อย่างไร จนกระทั่งเกิด PM2.5 เริ่มเห็นชัดขึ้นว่า Well-being เป็นเรื่องสำคัญและมีผลกระทบต่อคนโดยตรง เชื่อว่าผลกระทบที่เห็นจะปรับวิธีการคิดของคนต่อจากนี้ในระดับที่เล็กที่สุด ตั้งแต่สิ่งแวดล้อมในห้อง ในอาคาร ไปจนถึงระดับเมือง คณะเองก็ต้องมองว่าจะพัฒนาเมืองในอนาคตอย่างไรให้สอดรับกับทิศทางของ Well-being”
                      “ด้านต่อมาคือ Circular Value & Sustainability ทั่วโลกตื่นตัวเรื่องความยั่งยืน มีการพูดถึง Low Carbon Society เรื่องความยั่งยืนในมิติของสิ่งแวดล้อมและชุมชนจะสำคัญมากขึ้น และเชื่อมโยงกับการคิดที่ซับซ้อนขึ้นไปถึง ทั้งเรื่องวัสดุและเรื่อง Circular Economic สุดท้ายคือด้าน Digital Solution & Integration สิ่งที่เราเน้นคือ การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของคน ผ่านกระบวนการออกแบบ นอกจากจะมีประโยชน์ต่อผู้ใช้งานแล้ว ยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรและธุรกิจยุคใหม่”
                        “แต่บทบาทของสถาบันอุดมศึกษานอกจากจะมอง Driving Forces 3 ด้านที่กล่าวไป ต้องไม่ลืมหัวใจสำคัญของอุดมศึกษา นั่นคือการผลิตคนและองค์ความรู้ใหม่ การผลิตองค์ความรู้มีหัวใจสำคัญ 2 ข้อ คือ วิชาการและงานวิจัย ซึ่งงานวิจัยเป็นจุดแข็งของคณะอยู่แล้ว เราเป็นคณะที่มีจำนวนผลงานวิจัยของคณาจารย์ตีพิมพ์ในฐานข้อมูลระดับสากลสูงสุดในประเทศต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 สะท้อนให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ในด้านส่วนการผลิตคน เรามุ่งไปที่การให้ทักษะและวิธีคิดที่ตอบโจทย์โลกอนาคต”
                          ผศ.อาสาฬห์ เล่าต่อว่า เพื่อให้บรรลุวัตุประสงค์ของการเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตคนและองค์ความรู้ใหม่ จึงเน้นไปที่การปรับองค์กร และยังเป็นครั้งแรกของคณะที่ปรับองค์กร หรือ Professional Unit Organization ใหม่ โดยนำวิชาการเป็นตัวนำและแบ่งองค์ความรู้ในคณะเป็น 3 ส่วน ได้แก่
                          1. Built Environment สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง โดยหลักสูตรจะเกี่ยวกับหลักพื้นฐานสถาปัตย์ฯ และพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง เช่น สถาปัตยกรรมหลัก สถาปัตยกรรมภายใน การผังเมือง ภูมิสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมเพื่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการออกแบบชุมชนเมือง
                          2. Design Strategy จะพูดเนื้อหาในเชิงวิธีการคิดอย่างนักออกแบบ ที่นำไปประยุกต์ใช้ในการคิดค้นนวัตกรรมและกลยุทธ์ของการบริหารองค์กร หลักสูตรการ Design, Buiness และ Technology Management หรือ DTBM ที่เป็นหลักสูตรตรีควบโทที่เดียวในเอเชีย และหลักสูตร Life-long Learning ของ Thammasat Design Center (TDC) เช่น Service Design, Business Design หลักสูตรที่นำเรื่องของ Behavior Design ไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบ
                          3. Professional Service & Resource Service เน้นเรื่องการบ่มเพาะ นำการทำงานจริงเข้ามาบูรณาการกับคณะมากขึ้น ให้นักศึกษามีสนามซ้อมก่อนลงสนามจริง ผลักดันให้นักศึกษาและศิษย์เก่าจัดตั้ง Design Startup ภายใต้คณะฯ ติดเขี้ยวเล็บการทำงานจริงก่อน

                          ตั้งเป้า ‘สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำในเอเชีย ด้านการออกแบบและสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง’ พลิกโฉมยุทธศาสตร์ด้วยความเป็นเลิศ

                          ด้วยโจทย์ที่ซับซ้อนขึ้น จึงทำให้คณะสถาปัตย์ฯ ต้องวางกรอบการทำงานให้ชัดเจน การนำ 3 เทรนด์โลกมาเป็นตัวกำหนดทิศทางก็ดี และการนำวิชาการมาเป็นแกนสำคัญในการปรับโครงสร้างองค์กรก็ตาม ทั้งหมดนั้นยังต้องดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์สำคัญ 4 ด้าน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายใหญ่ที่จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำในเอเชียด้านการออกแบบและสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง
                            “เราวางยุทธศาสตร์ 4 ด้านคือ Excellent Community สร้างชุมชนแห่งความเป็นเลิศ เพราะการจะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายได้ต้องอาศัยคน นั่นก็คือคณาจารย์และนักศึกษา Excellent Partnership สร้างเครือข่ายความเป็นเลิศ ปัจจุบันเราทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก หลักๆ คือ Harvard University ตั้งแต่ประเด็นการเรียนการสอนในช่วงโควิด ไปจนถึงทิศทางการศึกษาในอนาคต ด้าน KU Leuven ร่วมมือกับ WHO จัด Thammasat-WHO Summer School ในหัวข้อ การออกแบบสภาพแวดล้อมและการแพร่ระบาดโควิดต่อเนื่อง 3 ปี นักศึกษาที่เข้าโครงการจะเทียบโอนหน่วยกิตจากกิจกรรมต่างๆ ได้ หรือกับทาง Hong Kong Poly U Design เป็นความร่วมมือด้าน Design Strategy วิธีการคิดออกแบบเพื่อประยุกต์ใช้ในการคิดนวัตกรรม”
                              “ยุทธศาสตร์ Excellent Facility สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกแห่งความเป็นเลิศ เป้าหมายของคณะคือ เป็นพื้นที่บริการสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวคิด เรามีการอัปเกรด Data Center ที่จับมือกับเอกชน ALT ปรับโครงสร้างของระบบเทคโนโลยีให้ดียิ่งขึ้น อีกเรื่องที่เราจะขับเคลื่อนคือ Design Material Bank เพื่อให้นักออกแบบเข้าใจวัสดุที่จะนำมาใช้ได้ เราก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุเกี่ยวกับการออกแบบ และสิ่งที่สำคัญที่ใช้เป็นกรอบความคิดคือเรื่องของ Circular Value ภายใต้แนวคิดมูลค่าหมุนเวียน รวมถึงการสร้างห้องวิจัยเป็น Co-research Lab บนพื้นที่สำนักงานใหม่ชั้น 7 เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยวิจัยและเป็นพื้นที่ Showcase สำหรับนวัตกร”
                                “สุดท้ายคือ Excellent Organization สร้างองค์กรแห่งความเป็นเลิศ จะเน้นเรื่องของ Service Driven Design เยอะขึ้น ภาพมหาวิทยาลัยคนอาจจะนึกถึงความเป็นราชการ แต่เราต้องเปลี่ยน Mindset ให้คนในองค์กรคิดถึงการบริการที่มีประสิทธิภาพ”

                                  “นี่ไม่ใช่ปัญหาของระบบการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่มีทิศทางในการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจน”

                                  ยุทธศาสตร์ของคณะจะสามารถส่งไม้ต่อให้กับระบบการศึกษาไทยได้หรือไม่
                                    “การวางยุทธศาสตร์ของคณะเราต้องทำให้สอดคล้องไปยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งจริงๆ มันควรจะสอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์กระทรวงศึกษาธิการ หรือยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สู่การพัฒนาประเทศ แต่ความเป็นจริงแล้วเรายังมองไม่เห็นความเชื่อมโยงนั้น ที่สำคัญคือ นี่ไม่ใช่ปัญหาของระบบการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่มีทิศทางในการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจน”
                                      “เพราะการศึกษาต้องปรับให้ทันโลกอนาคต ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการ สำคัญไปกว่านั้น ต้องมองให้ออกว่าความจำเป็นของอุดมศึกษาในอนาคตคืออะไร เพราะบริบทและการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มันจะผันผวน ซับซ้อน ไม่แน่นอน และคลุมเครือ จะกลายเป็นโลกแบบ VUCA World และหาวิธีขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายนั้น”
                                        การศึกษาในระดับอุดมศึกษาต้องรองรับเรื่อง Life-long Learning มากขึ้น
                                          ผศ.อาสาฬห์ ยังชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทยต่ำ และจากนี้ไปอีก 17 ปี ประชากรที่จะเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาจะน้อยลง นั่นหมายถึงแรงงานในตลาดก็หายไปด้วยเช่นกัน
                                            “การศึกษาในระดับอุดมศึกษาต้องรองรับเรื่อง Life-long Learning มากขึ้น ทำอย่างไรให้สังคมที่จะเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้นปรับตัวได้ อย่าคิดว่าเราต้องให้การศึกษากับเด็กรุ่นใหม่อย่างเดียว คนที่อยู่ในตลาดงานตอนนี้สำคัญ เราต้องปรับตรงนี้ ถ้าผมมีอำนาจในการตัดสินใจ คงจะต้องพูดเรื่องตลาดแรงงานมากขึ้นไปเน้นที่การ Reskill และ Upskill”
                                              “เรื่อง Global Mindset ไม่ใช่เรื่องใหม่ ภาษาที่สองและสามเป็นเบสิกสกิลที่จำเป็น แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ความสามารถในการทำความเข้าใจกับความหลากหลายที่ซับซ้อนขึ้น และถ้าเรายิ่งไม่เข้าใจภาษาซึ่งเป็นตัวกลางในการสื่อสาร จะกลายเป็นข้อจำกัดที่จะเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ซับซ้อนขึ้น ความหลากหลายไม่ใช่แค่เรื่องเชื้อชาติอีกต่อไป ความหลากหลายที่จะเกิดขึ้นในสังคมโลกจะซับซ้อนยิ่งขึ้น เพศ อายุ รวมไปถึงโลกของการทำงาน ในอนาคตแนวโน้มองค์กรจะมีความเป็น Multi Culture และ Multi Age เพิ่มมากขึ้น”

                                                “อุดมศึกษาในปัจจุบันไม่ควรนำเป้าหมายของอาชีพเป็นตัวตั้งอีกต่อไป ต้องตั้งคำถามที่ใหญ่กว่านั้นว่า โลกในอนาคตต้องการอะไร”

                                                Personalize เลือกปรับ/เปลี่ยน/เรียนรู้ เฉพาะบุคคล แนวโน้มความต้องการผู้เรียนยุคใหม่
                                                  ผศ.อาสาฬห์ เล่าต่อว่า ตัวแปรสำคัญที่ระบบการศึกษาไทยจะล้าหลังต่อไปอีกไม่ได้แล้วคือแนวโน้มความต้องการของผู้เรียนยุคใหม่เปลี่ยนไปชัดเจน “ผู้เรียนยุคใหม่จะมีความ Personalize มากขึ้น เขาจะเลือกเรียนสิ่งที่เขาอยากเรียนและเรียนกว้าง ไม่ได้อยากรู้เฉพาะด้านเหมือนเมื่อก่อน คงเพราะเขาเกิดในยุคดิจิทัลที่สามารถโลกมันแคบมาก เขารู้ได้ว่าเรื่องอะไรที่จะส่งผลกระทบหรือเป็นบริบทให้กับสิ่งที่เขากำลังเรียนรู้อยู่”
                                                    “ก็เป็นความท้าทายเหมือนกัน เพราะเราพูดกันมานานว่า สถาปัตย์ฯ เป็นการเรียนข้ามศาสตร์ Multidisciplinary หรือจะเรียกว่า Transdisciplinary ก็ยังได้ เรานำองค์ความรู้ของศาสตร์หนึ่งมาแก้ปัญหาในอีกมุมมองหนึ่ง เช่น นำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาเชิงสังคม ซึ่งตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยให้อิสระทุกคณะมากขึ้น มีการปรับวิชาพื้นฐานเดิม เปิดโอกาสให้นักศึกษาต่างคณะมาเรียนได้ ทางคณะเองก็เลือกรายวิชาที่ผู้เรียนสามารถนำไปบูรณาการกับศาสตร์อื่นๆ ได้ เช่น Design Thinking หรือ Wellbeing”
                                                      เทรนด์งานอนาคตกับการกำหนดทิศทางการศึกษา
                                                        แนวโน้มความต้องการผู้เรียนเปลี่ยนยังไม่พอ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ เทรนด์งานในอนาคต จะไม่ใช่ตัวกำหนดทิศทางการศึกษาอีกต่อไป ผศ.อาสาฬห์ ยังบอกด้วยว่า ถึงเวลาที่ต้องปรับวิธีคิดใหม่ เลิกมองการศึกษาเป็นเรื่องของการลงทุนเพื่อสร้างแรงงานคนได้แล้ว
                                                          “ถ้ามองย้อนกลับไปที่ประวัติศาสตร์การศึกษา มันเกิดขึ้นจากความต้องการผลิตผู้ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อไปอยู่ในระบบของการผลิต แต่ผมไม่เชื่อว่าโลกในอนาคตจะเป็นแบบนั้นอีกแล้ว ตำแหน่งงานในอนาคตจะเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างสิ้นเชิง 10 ปีที่ผ่านมา เราเห็นตำแหน่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เจอแนวทางการทำงานใหม่ๆ ธุรกิจใหม่ๆ และด้วยสปีดของการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นมาก อุดมศึกษาในปัจจุบันจึงไม่ควรนำเป้าหมายของอาชีพเป็นตัวตั้งอีกต่อไป แต่ต้องตั้งคำถามที่ใหญ่กว่านั้นว่า โลกในอนาคตต้องการอะไร แล้วเราจะผลิตคนแบบนั้นเพื่อเข้าสู่โลกในอนาคต”
                                                            “ฝั่งผู้สอนเองก็ต้องปรับ อาจต้องเริ่มจากยอมรับว่าความสำเร็จในอดีตไม่ใช่ความสำเร็จในอนาคต สิ่งที่เราเชื่อในอดีตอาจไม่เป็นจริงต่อไปในอนาคต มันต้องเปลี่ยนวิธีการสอนจากเดิมที่ครูเป็นผู้ให้ความรู้ เป็นการสร้างสมรรถนะให้กับผู้เรียน เพื่อแก้ปัญหา เป็นผู้ชี้แนวทางการแก้ปัญหาในลักษณะของการโค้ชชิ้ง สอนกระบวนการคิด ท้าทายผู้เรียนให้มองในหลากมุม”
                                                              “หรือหากมองกลับมาที่หลักการเรียนการสอน อาจจะต้องเป็นการเรียนผ่าน Project Base มากขึ้น เรียนรู้การทำงานจริง ทำงานกับสถานการณ์จริง เราได้เปรียบตรงนี้เพราะคณะสถาปัตย์ฯ เรียนเป็น Project Base แต่ความท้าทายคือ ทำอย่างไรให้ผู้สอนมองสถานการณ์โลกที่มันซับซ้อนขึ้น ก็พยายามผลักดันให้อาจารย์ได้เปิดโลกทัศน์ ทำงานกับต่างชาติ ทำงานกับหน่วยงานข้างนอก หรือทำงานกับชุมชน เพื่อให้เห็นโลกความเป็นจริงมากขึ้น นำสถานการณ์จริงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการคิดค้นองค์ความรู้ใหม่ๆ”

                                                              “การศึกษาในประเทศไทยกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนทำตามกัน เพื่อไปถึงเป้าหมายที่ก็ไม่รู้ว่าคืออะไร”

                                                              จริงๆ แล้วบทบาทของการศึกษาที่มีต่อประเทศคืออะไร
                                                                “ถ้าถามผมนะ ระบบการศึกษาในประเทศไทยต้องเปลี่ยนวิธีการคิดแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือและต้องทำเดี๋ยวนี้ ถ้าไม่พลิกประเทศจะไม่ไปไหนเลย เลิกเอาตลาดงานเป็นที่ตั้งเพื่อวางทิศทางการศึกษา หลายประเทศในยุโรป สแกนดิเนเวียน ให้ความสำคัญกับการศึกษามาก สวัสดิการของรัฐ คือ เรียนฟรี เพราะเขามองคนเป็นทรัพยากรที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศ รัฐต้องสนับสนุนการศึกษาและส่งเสริมให้อุดมศึกษามีเสรีภาพในการคิด ต้องยอมรับว่าประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ทำให้การศึกษาในประเทศไทยกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนทำตามกันเพื่อไปถึงเป้าหมายที่ก็ไม่รู้ว่าคืออะไร”
                                                                  “ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนต้องกลับไปตั้งหลักและคิดให้ถี่ถ้วนว่า จริงๆ แล้วบทบาทของการศึกษาที่มีต่อประเทศคืออะไร จะไปมองว่าการศึกษาคือพื้นฐานและอุดมศึกษาไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะโลกยุคหลังโควิด การศึกษาจะต้องยกระดับองค์ความรู้ของคน รองรับเรื่อง Life Long Learning ที่สำคัญต้องทำเดี๋ยวนี้”

                                                                  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์